ประโยชน์ของการว่ายน้ำ กระชับกล้ามเนื้อ เผาผลาญพลังงาน ลดแรงกระแทก
By โรงพยาบาลเปาโล |
10 MAR, 2023
ถ้าจะพูดถึงการออกกำลังกายแบบคาร์ดีโอที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลายคงก็คงจะนึกถึงการว่ายน้ำ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ ทำให้ร่างกายเกิดการเสื่อมสภาพได้น้อยกว่าการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ รวมถึงไม่มีเหงื่อออกทำให้ตัวเหนียวเหนอะหนะเหมือนการออกกำลังกายแบบคาร์ดีโออีกด้วย ถ้าใครกำลังสนใจอยากลองว่ายน้ำ บทความนี้ต้องเป็นประโยชน์แน่นอน
ว่ายน้ำมีประโยชน์อย่างไร
การว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่ใช้ร่างกายทุกสัดส่วนตั้งแต่ศีรษะ ลำตัว แขน ขา ไปจนถึงปลายเท้า ซึ่งการที่เราต้องเคลื่อนไหวร่ายกายในน้ำจะช่วยลดแรงกระแทกได้ เนื่องจากน้ำจะคอยพยุงร่างกายเอาไว้ ทำให้ไม่เกิดแรงกระแทกบริเวณข้อต่อนั่นเอง นอกจากเรื่องของการลดแรงกระแทกแล้ว การว่ายน้ำยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น
· ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานได้ดี ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น
· ช่วยเผาผลาญไขมัน ลดน้ำหนักได้ (หากว่ายน้ำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง 15-20 นาทีขึ้นไปและว่ายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์)
· ช่วยให้ปอดแข็งแรงขึ้น
· ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อทุกมัดได้ถูกใช้งาน
· ช่วยบริหาร ยืด เหยียด กล้ามเนื้อได้ดี เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
· ช่วยบริหารให้ข้อต่อได้เคลื่อนไหวมากขึ้น ช่วยป้องกันและรักษาสภาวะข้อติด
· ช่วยให้นอนหลับง่าย เพราะอวัยวะทุกส่วนได้ออกกำลัง ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
· ผ่อนคลายความเครียด คลายร้อน
· ช่วยทำให้มีสมาธิมากขึ้น
· ช่วยปรับบุคลิกภาพ ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น
ว่ายน้ำเผาผลาญพลังงานได้เท่าไหร่
เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่หลายคนอยากรู้ โดยเฉพาะคนที่มีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก บอกได้เลยว่าการว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดีโอที่สามารถเผาผลาญพลังงานได้มากกว่าปกติ เพราะในน้ำมีแรงต้านมากกว่าอากาศถึง 10 เท่าด้วยกัน โดยปริมาณแคลอรีที่เผาผลาญจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการว่าย ความหนักหน่วงในการออกแรง น้ำหนักตัว รวมถึงความชำนาญในการว่ายน้ำอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วการว่ายน้ำ 1 ชั่วโมงจะเผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 400 แคลอรี แต่หากเป็นการว่ายน้ำแบบนักกีฬาซึ่งมีกล้ามเนื้อมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นในระยะเวลาเท่ากันจะเผาผลาญได้มากถึง 700 แคลอรีเลยทีเดียว
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังว่ายน้ำ
เนื่องจากการว่ายน้ำเป็นประเภทการออกกำลังกายที่ต้องใช้บริเวณสระว่ายน้ำร่วมกัน อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เราจึงรวบรวมปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ระมัดระวังหรือหากเกิดขึ้นกับตัวเองจะได้รีบไปพบแพทย์และรักษาอาการได้ทันท่วงที ซึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้
· ท้องเสีย เพราะในสระว่ายน้ำอาจมีเชื้อโรคที่สะสมอยู่ เนื่องจากสระว่ายน้ำไม่ได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำ เชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่ในสระว่ายน้ำ ได้แก่ เชื้อคริพโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) เชื้อไกอาเดีย (Giardia) เชื้อชิเกลลา (Shigella) เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) หรือแม้แต่เชื้ออีโคไล (E.Coli)
· หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) อาการนี้สามารถพบบ่อยในผู้ที่ว่ายน้ำเป็นประจำ เนื่องจากน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปขังในหู จนเกิดอาการอักเสบ ซึ่งนำไปสู่อาการคัน ปวด และบวมภายในช่องหู
· ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ปัญหานี้เกิดจากเชื้อโรคที่เจือปนในสระว่ายน้ำก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจแบบไม่รู้ตัว เช่น โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires Disease) ทำให้เกิดอาการไอ หายใจสั้น เจ็บหน้าอก หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ โรคนี้จะเป็นอันตรายมากสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือภูมิคุ้มกัน
· อาการบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากการว่ายน้ำที่หักโหมเกินสมรรถภาพของร่างกายมากเกินไป
ว่ายน้ำไม่เหมาะกับใครบ้าง
แม้การว่ายน้ำจะเป็นการออกกำลังกายที่ทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่อาจจะต้องมีความระมัดระวังในการว่ายน้ำมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งได้แก่
· ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่อุ่นจัดหรือเย็นจัด รวมถึงควรหลีกเลี่ยงกายว่ายน้ำท่ากบ เนื่องจากการว่ายน้ำท่ากบต้องถีบขาไปด้านหลัง จึงอาจส่งผลกระทบต่อเชิงกรานได้
· ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อรุนแรงหรือผู้ที่เพิ่งผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ ไม่ควรว่ายน้ำเพราะอาจทำให้ข้อต่อบาดเจ็บเพิ่มขึ้นหรือมีอาการปวดได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการว่ายน้ำ